ปริมาณฝนรายเดือน
เปรียบเทียบข้อมูลสถิติฝนรายปีย้อนหลัง

หากวิเคราะห์ปริมาณฝนเป็นรายเดือน จะเห็นได้ว่าปี 2562 มีเดือนที่ฝนตกมากกว่าปกติเพียง 2 เดือนเท่านั้นได้แก่ เดือนมกราคม ที่ปริมาณฝนตกหนักกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ของภาคใต้ และสิงหาคม ที่มีฝนตกหนักกระจุกตัวบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอีก 10 เดือนที่เหลือ มีฝนตกน้อยกว่า

ปกติทุกเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งโดยปกติจะเกิดฝนตกหนักบริเวณตอนบนของประเทศและเป็นช่วงเวลาแห่งการกักเก็บน้ำเพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง แต่ปีนี้ฝนตกน้อยกว่าปกติอย่างมากเกือบทุกเดือน มีเพียงเดือนสิงหาคมที่ฝนตกมากกว่า

ปกติ 31% ส่วนเดือนอื่น ๆ ฝนตกน้อยกว่าปกติตลอดฤดูฝน โดยเดือนตุลาคมมีฝนตกน้อยกว่าปกติที่สุด 44% ส่งผลทำให้กักเก็บน้ำได้น้อย และต้องนำน้ำต้นทุนของปีก่อนหน้าออกมาใช้ ทั้งนี้เดือนตุลาคมมีฝนตกน้อยกว่าปกติถึง 44%



หมายเหตุ : ประมาณค่าฝนด้วยวิธี Inverse Distance Weighting (IDW) โดยใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา



เดือนมกราคม

เดือนมกราคม ปี 2562 ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 32 มิลลิเมตร มากกว่าปกติ 18 มิลลิเมตร หรือมากกว่าปกติเกินเท่าตัว โดยพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้มีฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือที่อยู่ในช่วงฤดูหนาวแต่กลับมีฝนตกมากกว่าปกติ หากเทียบกับข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 39 ปี จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมาก และจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีหลังมานี้ เดือนมกราคมมีแนวโน้มฝนตกเพิ่มมากขึ้น มีเพียงปี 2557 เพียงปีเดียวเท่านั้นที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ







เดือนกุมภาพันธ์

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 14 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 4 มิลลิเมตร หรือประมาณ 22% โดยพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกมากกว่าปกติเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงมีฝนตกมากกว่าปกติในบางพื้นที่ของภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ







เดือนมีนาคม

เดือนมีนาคม ปี 2562 ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 21 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 24 มิลลิเมตร หรือประมาณ 52% โดยมีฝนตกมากกว่าปกติกระจุกตัวอยู่บริเวณภาคตะวันออก ส่วนพื้นที่อื่น ๆ มีฝนตกกระจุกตัวมากเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ในบางพื้นที่ ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ







เดือนเมษายน

เดือนเมษายน ปี 2562 ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 52 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 33 มิลลิเมตร หรือประมาณ 38% โดยมีฝนตกมากกว่าปกติกระจุกตัวเป็นหย่อม ๆ ในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับข้อมูลปริมาณฝนเดือนเมษายนในปี 2553 และ 2558 ที่ประเทศไทยเกิดภัยแล้งรุนแรง พบว่าปริมาณฝนเดือนเมษายนปีนี้มีน้อยกว่าปี 2553 อยู่เล็กน้อย แต่น้อยกว่าปี 2558 ค่อนข้างมาก







เดือนพฤษภาคม

เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนที่พื้นที่ตอนบนของประเทศไทยทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งในปี 2562 นี้เริ่มต้นฤดูด้วยสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 158 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 28 มิลลิเมตร หรือประมาณ 15% พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยมีฝนตกมากกว่าปกติเป็นหย่อม ๆ ในบางพื้นที่ แต่เมื่อเทียบกับปริมาณฝนของเดือนนี้ในปี 2553 และ 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง พบว่าเดือนพฤษภาคม 2562 มีฝนตกมากกว่าค่อนข้างมาก







เดือนมิถุนายน

เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่ 2 ของการเข้าสู่ฤดูฝน แต่สถานการณ์ฝนยังคงตกน้อยกว่าปกติ โดยมีฝนตกเฉลี่ย 133 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 44 มิลลิเมตร หรือประมาณ 25% โดยเฉพาะตอนบนของประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงมีฝนตกน้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับปริมาณฝนของปี 2553 และ 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง พบว่าปริมาณฝนปี 2562 มากกว่าปี 2558 แต่น้อยกว่าปี 2553







เดือนกรกฎาคม

เดือนกรกฎาคม สถานการณ์ฝนยังคงตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีฝนตกเฉลี่ย 140 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 49 มิลลิเมตร หรือประมาณ 26% พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีฝนตกน้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับปริมาณฝนของเดือนนี้ย้อนหลังในรอบ 39 ปี พบว่าเดือนกรกฎาคม 2562 มีฝนตกน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2530







เดือนสิงหาคม

เดือนสิงหาคม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอิทธิพลของพายุวิภาและพายุโพดุลที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยเดือนนี้มีฝนตกเฉลี่ย 302 มิลลิเมตร มากกว่าปกติ 71 มิลลิเมตร หรือประมาณ 31% และเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 39 ปี พบว่าเดือนสิงหาคมปีนี้มีฝนตกมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2542







เดือนกันยายน

เดือนกันยายน ปริมาณฝนกลับมาตกน้อยกว่าปกติอีกครั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ มีเพียงพื้นที่ตอนล่างด้านฝั่งตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนตกมากกว่าปกติ เป็นบริเวณกว้างเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุคาจิกิ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ มีฝนตกมากกว่าปกติเป็นหย่อม ๆ ในบางพื้นที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของเดือนนี้อยู่ที่ประมาณ 210 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 32 มิลลิเมตร หรือประมาณ 13% และเมื่อเทียบกับปี 2553 และ 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง พบว่าเดือนกันยายนปี 2562 มีฝนตกน้อยกว่า







เดือนตุลาคม

เดือนตุลาคม ฝนตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีฝนตกเพียง 92 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 71 มิลลิเมตร หรือประมาณ 44% พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ มีเพียงบริเวณภาคใต้ตอนล่างเท่านั้นที่มีฝนตกมากกว่าปกติเป็นบริเวณกว้าง เมื่อเทียบกับข้อมูลปริมาณฝนย้อนหลังในรอบ 39 ปี พบว่าปริมาณฝนเดือนตุลาคม ปี 2562 น้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2547







เดือนพฤศจิกายน

เดือนพฤศจิกายน ฝนยังคงตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่อง โดยมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 41 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 38 มิลลิเมตร หรือประมาณ 48% พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นช่วงฤดูฝน แต่กลับมีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมากเป็นบริเวณกว้าง







เดือนธันวาคม

เดือนธันวาคม ฝนยังคงตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่อง โดยมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 14 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 25 มิลลิเมตร หรือประมาณ 64% พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝนแต่กลับมีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมากเป็นบริเวณกว้างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน