เขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ
รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกัก ปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณน้ำระบายของแต่ละเขื่อน
จากกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือรวมกัน 44,283 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 62% ของความจุเขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง โดยน้อยกว่าปี 2561 อยู่ 10,101 ล้านลูกบาศก์เมตร และหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือปี 2562 มีน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี

2558 ที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง เนื่องจากมีฝนตกน้อยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 สำหรับปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปี 2562 มีอยู่ทั้งสิ้น 29,354 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2561 อยู่ 18,741 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนที่ลดลงจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก หากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี ปริมาณน้ำมีน้อยเป็น

อันดับที่ 2 รองจากปี 2558 อีกเช่นกัน นอกจากนี้ในปี 2562 มีการระบายน้ำไปทั้งสิ้น 34,874 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำระบายที่มากกว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนทั้งปี ทั้งนี้หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี พบว่าปี 2562 มีการระบายน้ำมากกว่าปี 2558 และปี 2559




หมายเหตุ :
1. ข้อมูลจากกรมชลประทาน
2. เกณฑ์ปริมาณน้ำกักเก็บ >100% = เกินความจุเก็บกัก , >80-100% = น้ำมาก , > 50-80% = น้ำปานกลาง , >30-50% = น้ำน้อย , <= 30% = น้ำน้อยวิกฤต






หากแจกแจงข้อมูลเป็นรายภาคและเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี พบว่า ในปี 2562 ภาคเหนือมีน้ำเหลือน้อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประสบภัยแล้งรุนแรง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีน้ำกักเก็บคงเหลือเหลือเพียง 11,234 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เป็นน้ำใช้การได้จริง 4,488 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่ภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเนื่องจากต้องพึ่งพาน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ

ที่ถึงแม้ว่าภาคกลางจะยังคงมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลางค่อนไปทางมาก ประมาณ 22,317 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เป็นน้ำใช้การได้จริงเพียง 8,980 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งจะกล่าวเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป สำหรับภาคตะวันออก ปี 2562 มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือน้อยที่สุด โดยเหลือน้ำกักเก็บ ณ วันสิ้นปี เพียง 719 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เป็นน้ำใช้การได้

จริง 619 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือค่อนข้างน้อย โดยเหลือเพียง 4,425 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง โดยเป็นน้ำใช้การได้จริง 2,775 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคใต้มีน้ำกักเก็บคงเหลือ 5,588 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง โดยเป็นน้ำใช้การได้จริง 3,877 ล้านลูกบาศก์เมตร





นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตลอดทั้งปี 2562 จะเห็นได้ว่าทั่วทุกภาคมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย โดยภาคเหนือมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเพียง 8,102 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2558 ภาคตะวันออกเฉียง

เหนือมีปริมาณน้ำไหลลง 4,729 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2558 และ 2555 ภาคกลางมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 10,477 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2557 และ 2558 ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำไหลลงเพียง

917 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยที่สุดหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี ส่วนภาคใต้มีปริมาณน้ำไหลลง 5,130 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำลดลงจากปี 2561 ค่อนข้างมาก แต่ยังมากกว่าปี 2553 2558 และ 2559





ทั้งนี้ในปี 2562 ถึงแม้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในแต่ละภาคจะมีค่อนข้างน้อย แต่การระบายน้ำมีค่อนข้างมากเกือบทุกภาค มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ระบายน้ำค่อนข้างน้อย เพียง 3,369 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2558

ส่วนภาคเหนือมีการระบายน้ำค่อนข้างมาก โดยมีการระบายถึง 13,624 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับ 4 รองจากปี 2554 2555 และ 2561 ภาคกลางมีการระบายน้ำไป 10,683 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2558 2559 และ 2560 ภาคตะวันออกมีน้ำ

ระบาย 1,144 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2554 2561 และ 2556 ส่วนภาคใต้มีการระบายน้ำค่อนข้างมากเช่นกัน โดยระบายไป 6,055 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2561 และ 2555



หมายเหตุ :
  • ความจุเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 อ่างรวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร (อ้างอิงปี 2562)
  • ใช้ข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่รายงานโดยกรมชลประทาน
  • ภาคเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
    เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร และเขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา
  • ภาคกลางมีเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออกมีเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนประแสร์ จ.ระยอง และเขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี
  • ภาคใต้มีเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา





  • หากแยกตัวเลขปริมาณน้ำเก็บกักวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่จะใช้เป็นต้นทุนน้ำในปี 2563 ออกเป็นรายเขื่อน มีรายละเอียดดังนี้
    ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ไม่มีเขื่อนใดที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุของเขื่อน
    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำมาก (ตั้งแต่ 80-100% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิรินธร (87%) และเขื่อนศรีนครินทร์ ( 85%)
    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง (ตั้งแต่ 50-80% ของความจุเขื่อน) มีทั้ง

    หมด 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ (51%) เขื่อนแม่งัด (57%) เขื่อนกิ่วลม (53%) เขื่อนกิ่วคอหมา (63%) เขื่อนลำปาว (71%) เขื่อนน้ำอูน (53%) เขื่อนน้ำพุง (53%) เขื่อนวชิราลงกรณ (79%) เขื่อนขุนด่านปราการชล (71%) เขื่อนนฤบดินทรจินดา (73%) เขื่อนแก่งกระจาน (72%) เขื่อนปราณบุรี (69%) เขื่อนรัชชประภา (66%) เขื่อนบางลาง (73%)
    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย (ตั้งแต่ 30-50% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (41%) เขื่อนแควน้อย (47%) เขื่อนแม่มอก (31%) เขื่อนลำตะคอง (49%)

    เขื่อนห้วยหลวง (44%) เขื่อนมูลบน (35%) เขื่อนลำแซะ (31%) เขื่อนบางพระ (46%) เขื่อนหนองปลาไหล (35%) เขื่อนประแสร์ (41%)
    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต (น้อยกว่า 30% ของความจุเขื่อน) มี 9 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวง (28%) เขื่อนลำพระเพลิง (14%) เขื่อนอุบลรัตน์ (20%) เขื่อนจุฬาภรณ์ (27%) เขื่อนลำนางรอง (19%) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (24%) เขื่อนกระเสียว (20%) เขื่อนทับเสลา (23%) เขื่อนคลองสียัด (26%)





    ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ภาคเหนือมีเขื่อนที่ปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อยวิกฤตอยู่ 4 เขื่อน จากทั้งหมด 8 เขื่อน โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนแควน้อยมีน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลางแต่ค่อนไปทางน้อย ซึ่งทั้ง 3 เขื่อน เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของพื้นที่ลุ่มภาคกลาง สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขื่อนที่ปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อยวิกฤตอยู่ 8 เขื่อน จากทั้งหมด 12 เขื่อน และมีเขื่อนที่มีน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำมากเพียง 1 เขื่อน คือ เขื่อนสิรินธร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งไม่สามารถนำน้ำมาช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้งบริเวณต้นน้ำได้ แต่สามารถนำน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มาช่วยได้ในบางพื้นที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณต้นน้ำแม่น้ำมูลและแม่น้ำชียังคงเสี่ยงต่อการขาดน้ำในช่วงต้นปี 2563 เนื่อง

    จากเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยวิกฤต โดยเฉพาะบริเวณ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น ส่วนภาคกลาง จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากภาคเหนือและอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากภาคเหนือมีน้ำคงเหลือค่อนข้างน้อย และถึงแม้ว่าในภาพรวมทั้งภาคสถานการณ์น้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายเขื่อน พบว่าเขื่อนที่มีน้ำกักเก็บเหลือค่อนข้างมาก คือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง การจะผันน้ำเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคจะต้องใช้วิธีการสูบ ประกอบกับเขื่อนทั้งสองมีระดับการกักเก็บน้ำต่ำสุด (ระดับน้ำตาย) ที่ค่อนข้างสูงมากอันเนื่องมาจากโครงสร้างของเขื่อน ทำให้มีน้ำเหลือใช้การได้จริงค่อนข้างน้อย โดยสิ้นปี 2562 มีน้ำใช้การได้จริงเหลืออยู่ 8,712 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะ

    สามารถนำมาช่วยบรรเทาสถานการณ์ของพื้นที่ภาคกลางได้ในบางพื้นที่เท่านั้น นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าอีก 3 เขื่อนที่เหลือในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงต้นปี 2563 พื้นที่ภาคกลางมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบกับปัญหาการขาดน้ำ สำหรับภาคตะวันออกมีเขื่อนที่มีน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยวิกฤต 4 เขื่อนจากทั้งหมด 6 เขื่อน โดยทั้ง 4 เขื่อน ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกตอนล่างบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่พื้นที่ดังกล่าวจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้เช่นเดียวกัน ส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่เดียวที่สถานการณ์ค่อนข้างปกติ โดยทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง