Executive Summary



ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ปริมาณฝนของประเทศไทยมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง โดยในช่วงปี 2552 - 2553 มีฝนตกทั้งประเทศน้อยกว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ ตรงกันข้ามกับปีต่อมาที่มีฝนตกเกินค่าปกติไปค่อนข้างมาก ส่งผลทำให้เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 อย่างที่ทุกคนทราบกัน

หลังจากนั้นอีก 2 ปี สถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติ ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2557-2558 ส่งผลทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะปี 2558 ที่มีฝนตกน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์ Super Elnino แต่หลังจากนั้นอีกเพียงปีเดียวกลับเกิดสถานการณ์ฝนตกมาก

ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2560 โดยที่ปริมาณฝนใกล้เคียงปี 2554 แต่มาในปี 2561 นี้ กลับเกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าปกติขึ้นอีกครั้ง จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความถี่ของการเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติและฝนตกมากกว่าปกติมีเพิ่มมากขึ้น

พายุเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อปริมาณฝนที่เกิดขึ้น ในปี 2561 นี้ สถานการณ์พายุที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปกติ 1 ลูก โดยปีนี้มีพายุเข้ามาเพียง 2 ลูก เท่านั้น ประกอบด้วย
     1) พายุโซนร้อน "เบบินคา" (BEBINCA) ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงกลางเดือนสิงหาคม
     2) พายุโซนร้อน "โทราจี" (TORAJI) ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยพายุทั้ง 2 ลูก เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในขณะที่อยู่ในระดับพายุดีเปรสชัน

นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุอีก 6 ลูก ที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่พายุดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งส่งผลทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย
     1) พายุโซนร้อน "บอละเวน" (BOLAVEN) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมกราคม
     2) พายุโซนร้อน "เอวิเนียร์" (EWINIAR) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

     3) พายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
      4) พายุโซนร้อน "บารีจัต" (BARIJAT) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงกลางเดือนกันยายน
      5) พายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น "มังคุด" (MUNGKHUT) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงกลางเดือนกันยายน
      6) พายุไต้ฝุ่น "อูซางิ" (USAGI) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

อิทธิพลจากพายุรวมถึงปัจจัยอื่น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอากาศประจำถิ่น ทั้งลมมรสุมและร่องมรสุม ส่งผลให้ตลอดปี 2561 นี้ มีสถานการณ์ฝนตกมากกระจุกตัวอยู่บริเวณพื้นที่ชายขอบของประเทศ ส่วนพื้นที่ตอนกลางของประเทศมีฝนตกค่อนข้างน้อย โดยฝนที่ตกหนักส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่านและแม่ฮ่องสอน ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบางพื้นที่ของจังหวัดบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญและอุบลราชธานี ภาคกลางตอนล่างบริเวณจังหวัดลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่

ใกล้เคียง ตอนบนของภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทราและชลบุรี ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีจนถึงจังหวัดชุมพร และบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และหากพิจารณาปริมาณฝนเป็นรายเดือน จะเห็นได้ว่า มีเดือนที่มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ 5 เดือนได้แก่ มกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน กรกฎาคม และธันวาคม โดยเดือนเมษายนมีฝนตกมากกว่าปกติมากที่สุด 47% แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นสถานการณ์ฝนมากกว่าปกติที่เกิดในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ไม่ค่อยมีนัยสำคัญมากนักเนื่องจากมีปริมาณฝนค่อนข้างน้อย

ยกเว้นเดือนกรกฎาคมที่มีฝนตกหนักส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบริเวณภาคใต้ตอนบน สำหรับอีก 7 เดือนที่เหลือ มีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมาก โดยเดือนพฤศจิกายนที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติมากที่สุดถึง 61% ซึ่งเกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมากเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้สถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าปกติได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ทำให้ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณฝนเฉลี่ยรวมทั้งประเทศประมาณ 1,456 มิลลิเมตร น้อยกว่าปกติ 0.75% และน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 20%

จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในบางบริเวณที่เกิดขึ้นในปี 2561 ส่งผลทำให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเพียง 2.4 ล้านไร่ เท่านั้น (สังเคราะห์ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม) โดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 25 จังหวัด ได้แก่
     1) ภาคเหนือ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 57,554 ไร่ รวม 2 จังหวัด คือ จังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน
     2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1.64 ล้านไร่ รวม 13 จังหวัด ประกอบด้วย

นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ยโสธร หนองคาย อุบลราชธานี อุดรธานี กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ สุรินทร์ มุกดาหาร
     3) ภาคกลาง มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 436 ไร่ รวม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และสระบุรี
     4) ภาคตะวันออก มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 585,008 ไร่ รวม 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา
     5) ภาคใต้ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 118,527

ไร่ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง เพชรบุรี ตรัง และสุราษฎร์ธานี
     ทั้งนี้ พื้นที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด 442,093 ไร่ รองลงมาคือ จังหวัดสกลนคร และปราจีนบุรี ที่มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 326,957 และ 268,563 ไร่ ตามลำดับ



นอกจากนี้ สถานการณ์ฝนที่ตกตลอดปี 2561 ยังส่งผลทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวมกันตลอดปี 48,064 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าปี 2560 อยู่ 4,809 ล้านลูกบาศก์เมตร และถึงแม้ว่าปริมาณฝนทั้งประเทศจะน้อยกว่าปกติ และสถานการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ในบางพื้นที่ส่งผลให้มีหลายเขื่อนที่มีตัวเลขทำลายสถิติข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้า ซึ่งเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 10 ปี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนรัชชประภา เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนวชิราลงกรณ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งกระจานที่ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) ที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทย และอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักมีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมากจนทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น

อย่างรวดเร็วจนเกินเกณฑ์ควบคุม โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เพียงวันเดียวมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน สูงถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรายวันที่สูงที่สุดของเขื่อนแก่งกระจานตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน ซึ่งจากสถานการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2561 ยังส่งผลทำให้หลายเขื่อนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบมีตัวเลขการระบายน้ำทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนวชิราลงกรณ โดยเขื่อนน้ำอูนเกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนออกทาง spillway รวมระยะเวลาทั้งสิ้นถึง 56 วัน ทั้งนี้ เขื่อนน้ำอูนเกิดสถานการณ์น้ำล้น spillway ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน โดยในปี 2560 เกิดน้ำล้นในช่วงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ "เซินกา" (SONCA) ส่วนปี 2561 นี้ ได้รับอิทธิพลจากพายุ "เซินติญ" (SON-TINH) สำหรับเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อน

วชิราลงกรณ ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมด้วยเช่นกัน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นปริมาณมาก ทำให้ต้องระบายน้ำออกเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน สำหรับเขื่อนที่มีเขื่อนที่มีน้ำไหลเข้าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี มีเพียงเขื่อนเดียว คือ เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากปีนี้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมาก และหากพิจารณาถึงน้ำต้นทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ในปี 2562 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือเพื่อใช้เป็นต้นทุนรวมกัน 54,381 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 77% ของความจุเขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง เป็นน้ำใช้การได้จริง 30,838 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้อยกว่าปี 2560 อยู่ 3,779 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่ย้อนหลัง 10 ปี (2552-2561) จะเห็นได้ว่าในปี 2561 นี้ ปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือปี 2561 มีมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และปี 2560


จากข้อมูลปริมาณฝนที่ตกและปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ย 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) ประเทศไทยมีฝนตกโดยประมาณ 781,108 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นปริมาณน้ำท่าประมาณ 217,929 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำท่าดังกล่าวเป็นน้ำที่ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ประมาณ 43,338 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 5.5% ของฝนที่ตก หรือสามารถอธิบายอย่างง่าย ๆ คือ ถ้ามีฝนตก 100 เม็ด เขื่อนขนาดใหญ่จะเก็บฝนไว้ได้เพียง 5.5 เม็ด เท่านั้น ทั้งนี้หากแจกแจงเป็นรายภาค ภาคเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อน

7.1% ของปริมาณฝนที่ตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.6% ภาคกลาง 15.0% ภาคตะวันออก 1.9% และภาคใต้ 3.1% และหากพิจารณาถึงตัวเลขความจุของเขื่อนทั้งประเทศที่มีอยู่ 70,926 ล้านลูกบาศ์เมตร พบว่ามีน้ำไหลลงเขื่อนเฉลี่ยในแต่ละปีเพียง 43,338 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่แค่ 61% ของความจุเขื่อนเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขความแปรปรวน จะเห็นได้ว่าข้อมูลฝนทั้งประเทศมีความแปรปรวน 21% ส่วนข้อมูลน้ำไหลลงเขื่อนมีความแปรปรวน 66% ซึ่งถือว่ามีความแปรปรวนค่อน

ข้างสูง โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีความแปรปรวนของฝนและน้ำไหลลงอ่างสูงกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งหมายถึง ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ผิดที่ผิดเวลา ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างน้ำหลักของประเทศมีความแปรปรวนสูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาและฟื้นฟูโครงสร้างรองให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แก้มลิง ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อต่าง ๆ เพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์ฝนที่มีความแปรปรวนมากในปัจจุบัน