น้ำในเขื่อน

สัดส่วนน้ำไหลเข้ารวมทั้งปีต่อน้ำระบายรวมทั้งปี

ปี 2561 มีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 48,064 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าน้ำระบาย 708 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเปรียบปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าน้ำระบายคือการได้กำไร และปริมาณน้ำระบายมากกว่าน้ำไหลเข้าคือการ

ขาดทุนเท่ากับว่า ปี 2561 ได้กำไรเพียง 1.47% เท่านั้น แต่หากพิจารณาเป็นรายภาค จะเห็นได้ว่า ภาคตะวันออกมีกำไรมากที่สุดถึง 17.82% รองลงมาคือภาคกลาง 12.34% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือขาดทุนมากที่สุดถึง 16.01% โดยมีการนำน้ำกักเก็บ

ของปี 2560 ออกมาใช้ถึง 1,018 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากปีนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนภาคเหนือขาดทุน 9.24% และภาคใต้ได้กำไร 8.28%




ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี (2552-2561) แสดงให้เห็นว่าปีที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีมากกว่าน้ำระบายรวมทั้งปี ได้แก่ ปี 2553 2554 2556 2559 2560 และปี 2561 ส่วนปีที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีน้อยกว่าน้ำระบายรวมทั้งปี ได้แก่ ปี 2552 2555 2557 และ 2558  และหากแจกแจงเป็นรายภาค พบว่า

เขื่อนในภาคเหนือมีน้ำไหลเข้ามากกว่าน้ำระบายอยู่ 5 ปี คือ ปี 2553 2554 2556 2559 และ 2560 ส่วนปีที่เหลือมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีน้อยกว่าน้ำระบายรวมทั้งปี สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบายเพียง 2 ปี คือปี  2555 และปี 2561 ภาคกลางมีเพียงปี 2553 และปี 2557

ที่มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบาย ภาคตะวันออกมีปี 2552 เพียงปีเดียวที่มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบาย สำหรับภาคใต้มีน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าน้ำระบาย อยู่ 6 ปี ได้แก่ ปี 2552 2554 2556 2557 2559 2560 และปี 2561 ส่วนปีที่เหลือมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบาย




เมื่อแจกแจงเป็นรายเขื่อน ปี 2561 มีเขื่อนที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีมากกว่าปริมาณน้ำระบายรวมทั้งปีอยู่ทั้งหมด 16 แห่ง ดังนี้ พื้นที่ภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่กวง และเขื่อนแม่งัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนน้ำพุง และเขื่อนสิรินธร ภาคกลาง 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ภาคตะวันออก 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนคลอง

สียัด เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ ภาคใต้ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนรัชชประภา ส่วนเขื่อนที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีน้อยกว่าปริมาณน้ำระบายรวมทั้งปี มีทั้งหมด 19 เขื่อน ดังนี้ บริเวณภาคเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่มอก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนมูลบน และเขื่อนน้ำอูน ภาคกลาง 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกระเสียว เขื่อนป่าสัก และเขื่อนทับเสลา ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนบางพระ และเขื่อนขุนด่าน ส่วนภาคใต้มีเพียงเขื่อนเดียว คือ เขื่อนบางลาง





เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่ย้อนหลัง 10 ปี (2552-2561) จะเห็นได้ว่าในปี 2561 นี้ มีหลายเขื่อนที่มีตัวเลขทำลายสถิติข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณน้ำระบาย รายละเอียดดังนี้ เขื่อนที่การระบายน้ำมากกว่าปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 10 ปี หรือเรียกได้ว่า ขาดทุนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งหมายถึง การนำน้ำของปีก่อนหน้าออกมาใช้มากที่สุดในรอบ 10 ปี มีทั้งหมด 6 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนบางพระ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา และเขื่อนอุบลรัตน์ นอกจากนี้มีเขื่อนที่มีน้ำไหลเข้ามากกว่าน้ำระบายในทุกปี ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หรือได้กำไรทุกปี ซึ่งมีอยู่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนประแสร์ และเขื่อนสิรินธร แต่ทั้งนี้ แม้เขื่อนสิรินธรจะได้กำไรทุกปี แต่ในปี 2561 นี้ กลับเป็นปีที่ได้กำไรน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ยังมีเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 10 ปี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนรัชชประภา เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนวชิราลงกรณ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งกระจานที่ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) ที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทย และอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย

และอ่าวไทย มีกำลังแรง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักมีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมากจนทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินเกณฑ์ควบคุม โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เพียงวันเดียวมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน สูงถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรายวันที่สูงที่สุดของเขื่อนแก่งกระจานตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน หลังจากนั้นปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับกักเก็บปกติ จนทำให้เกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนไหลออกทางระบายน้ำล้น (spillway) ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2561 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 13 กันยายน 2561 สถานการณ์จึงเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์ทั้งสิ้น 39 วัน ซึ่งจากสถานการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2561 ที่ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนมาก ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลทำให้หลายเขื่อนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบมีตัวเลขการระบายน้ำทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนวชิราลงกรณ โดยเขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสูงเกินเกณฑ์ควบคุมในวันที่ 16 ก.ค. 61

จนกระทั่งเกินระดับกักเก็บปกติ และเกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนออกทาง spillway ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2561 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 กันยายน 2561 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 56 วัน ทั้งนี้ เขื่อนน้ำอูนเกิดสถานการณ์น้ำล้น spillway ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน โดยในปี 2560 เกิดน้ำล้นในช่วงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ "เซินกา" (SONCA) ส่วนปี 2561 นี้ ได้รับอิทธิพลจากพายุ "เซินติญ" (SON-TINH) สำหรับเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนวชิราลงกรณ ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมด้วยเช่นกัน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นปริมาณมาก ส่งผลทำให้มีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน สำหรับเขื่อนที่มีเขื่อนที่มีน้ำไหลเข้าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี มีเพียงเขื่อนเดียว คือ เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากปีนี้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมาก



ภาพน้ำล้น spillway เขื่อนน้ำอูน ปี 2561