น้ำในเขื่อน


เขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ

รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกัก ปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณน้ำระบายของแต่ละเขื่อน
จากกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย



วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือรวมกัน 54,381 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 77% ของความจุเขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง โดยน้อยกว่าปี 2560 อยู่ 3,779 ล้านลูกบาศก์เมตร และหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำกักเก็บ

คงเหลือปี 2561 มีมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และปี 2560 สำหรับปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปี 2561 มีอยู่ทั้งสิ้น 48,064 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2560 อยู่ 4,809 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี ปริมาณน้ำมีมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และปี 2560

นอกจากนี้ในปี 2561 มีการระบายน้ำไปทั้งสิ้น 47,356 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และปี 2555 ที่มีการระบายน้ำมากต่อเนื่อง 2 ปี เนื่องจากปี 2554 เกิดฝนตกหนักและมีน้ำไหลลงเขื่อนเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำ


หมายเหตุ :
1. ข้อมูลจากกรมชลประทาน
2. เกณฑ์ปริมาณน้ำกักเก็บ >100% = เกินความจุเก็บกัก , >80-100% = น้ำมาก , > 50-80% = น้ำปานกลาง , >30-50% = น้ำน้อย , <= 30% = น้ำน้อยวิกฤต


หากเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี พบว่า ในปี 2561 ภาคกลางและภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือมากที่สุด โดยภาคกลางมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 24,143 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ส่วนภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 1,224 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เช่นกัน สำหรับภาคเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 17,839 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และ 2560 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือค่อนข้างน้อย โดยเหลือเพียง 4,428 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ส่วนภาคใต้สถานการณ์น้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างปกติ โดยมีน้ำกักเก็บคงเหลือ 6,747 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

สำหรับปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมทั้งปี 2561 ภาคตะวันออกและภาคใต้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมมากที่สุด โดยภาคตะวันออกมีน้ำไหลลง 2,046 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคใต้ 8,251 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับภาคกลาง มีปริมาณน้ำไหลลง 16,588 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2554 ภาคเหนือมีปริมาณน้ำไหลลง 14,823 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และปี 2560 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย ลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก โดยมีน้ำไหลลงเขื่อนเพียง 6,356 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2558 และปี 2555 ทั้งนี้ในปี 2561 ภาคกลางมีปริมาณน้ำระบาย 14,540 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำระบาย 1,682 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทั้ง 2 ภาค

มีการระบายน้ำมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2554 ส่วนภาคเหนือมีน้ำระบาย 16,192 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และ 2555 ซึ่งเกิดจากสถานการณ์น้ำไหลลงเขื่อนมีปริมาณมากในปี 2554 ทำให้มีปริมาณน้ำระบายค่อนข้างมากต่อเนื่องถึงปี 2555 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำระบาย 7,374 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก แต่ยังคงมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2554 และปี 2560 ส่วนภาคใต้มีปริมาณน้ำระบาย 7,568 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากเกิดฝนตกหนักหลายครั้งในช่วงปลายปี ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่เขื่อนแก่งกระจานที่ปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บปกติ ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำ



หมายเหตุ :
  • ความจุเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 อ่างรวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร (อ้างอิงปี 2561)
  • ใช้ข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่รายงานโดยกรมชลประทาน
  • ภาคเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร และเขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา
  • ภาคกลางมีเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออกมีเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนประแสร์ จ.ระยอง และเขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี
  • ภาคใต้มีเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา


หากแยกตัวเลขปริมาณน้ำเก็บกักวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่จะใช้เป็นต้นทุนน้ำในปี 2562 ออกเป็นรายเขื่อน มีรายละเอียดดังนี้
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุของเขื่อน มีทั้งหมด 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่งัด (101%) และเขื่อนกิ่วคอหมา (108%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลือตั้งแต่ 80-100% ของความจุเขื่อน มีทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม (88%) เขื่อนศรีนครินทร์ (91%) เขื่อนวชิราลงกรณ (82%) เขื่อนหนองปลาไหล (92%) เขื่อนขุนด่านปราการชล (80%) เขื่อนนฤบดินทรจินดา (89%) เขื่อนแก่งกระจาน (86%) เขื่อนปราณบุรี (90%) และเขื่อนรัชชประภา (84%)

เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลือตั้งแต่ 50-80% ของความจุเขื่อน มีทั้งหมด 16 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (67%) เขื่อนสิริกิติ์ (78%) เขื่อนแม่กวง (56%) เขื่อนแควน้อย (69%) เขื่อนลำปาว (58%) เขื่อนลำตะคอง (79%) เขื่อนน้ำอูน (77%) เขื่อนสิรินธร (62%) เขื่อนจุฬาภรณ์ (74%) เขื่อนน้ำพุง (72%) เขื่อนลำแซะ (59%) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (58%) เขื่อนบางพระ (72%) เขื่อนคลองสียัด (74%) เขื่อนประแสร์ (79%) และเขื่อนบางลาง (74%)

เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลือตั้งแต่ 30-50% ของความจุเขื่อน มีทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก (42%) เขื่อนลำพระเพลิง (49%) เขื่อนอุบลรัตน์ (32%) เขื่อนห้วยหลวง (44%) เขื่อนลำนางรอง (32%) และเขื่อนมูลบน (49%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือน้อยกว่า 30% มี 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนกระเสียว (24%) และเขื่อนทับเสลา (26%)