บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม


ดินโคลนถล่ม อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
28 กรกฎาคม 2561

เดือนกรกฎาคมประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 11-18 ก.ค. 61 และอิทธิพลของพายุ "เซินติญ" ที่เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 19 ก.ค. 61 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาว ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดน่านที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 11-12 ก.ค. 61 และ 16-28 ก.ค. 61 ส่งผลให้

บริเวณตอนบนของจังหวัดน่าน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความชื้นทั้งผิวดินและความชื้นใต้ผิวดินสูงมาก จนกระทั้งในวันที่ 28 ก.ค. 61 เวลาประมาณ 6.00 น.ดินบนเขาชุ่มน้ำมากและไหลลงมาทับพื้นที่บ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาและมีบ้านเรือนที่ถูกดินถล่มทับ 6 หลังคาเรือน โดยเป็นบ้านที่ถูกดินถล่มทับทั้งหลัง จำนวน 4 หลัง ดินถล่มทับบางส่วน จำนวน 2 หลัง และถนน 1 สาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย เป็นชาย 2 ราย และหญิง 6 ราย นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักบริเวณจังหวัดน่าน ส่งผลให้มีน้ำไหลลง

เขื่อนสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 61 เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำกักเก็บ 54% อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ซึ่งในช่วงวันที่ 11-30 ก.ค. 61 มีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสม 1,254 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการระบายน้ำไปเพียง 311 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 6,036 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 63% ของความจุเขื่อน ทั้งนี้ในวันที่ 24 ก.ค. 61 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุดถึง 129 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

[ more ]




น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุ "เซินติน" (SON-TINH)
ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม

ช่วงกลางเดือนกรกฏาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ประเทศไทยเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) และลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งต่ำตามธรรมชาติในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน นครพนม ร้อยเอ็ด สกลนคร ยโสธร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบึงกาฬ เป็นต้น รวมถึงบางพื้นที่ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ซึ่งมวลน้ำบางส่วนในพื้นที่ภาคเหนือได้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับมีฝนตกกระจายตัวในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ราบต่ำ และพื้นที่ลุ่มการเกษตร บริเวณริมแม่น้ำสายหลักและลำน้ำย่อย นอกจากนี้อิทธิพลของพายุยังส่งผลทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอลเหนี่ยวนำ

ให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ทวีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่รับลม ได้แก่ ด้านตะวันตกของภาคใต้บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2561 เวลา 07.00 น. ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลพายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. - 18 ส.ค. 61 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในพื้นที่ 32 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน พิจิตร ลำปาง น่าน นครสวรรค์ แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก กาญจนบุรี นครนายก อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด ยโสธร หนองคาย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี ชุมพร และตราด รวม 109 อำเภอ 405 ตำบล 2,350 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,161 ครัวเรือน 149,831 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ จังหวัดสกลนคร 1 ราย และชุมพร

1 ราย อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลทำให้น้ำ ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนไหลออกผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งเขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินเกณฑ์ควบคุมตัวบนในวันที่ 16 ก.ค. 61 หลังจากนั้นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับกักเก็บปกติ และเกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 61 เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้ามาสูงถึง 32 ล้านลูกบาศก์เมตร และเกิดสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 กันยายน 2561 หลังจากนั้นสถานการณ์จึงเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมระยะเวลาที่น้ำเกินระดับกักเก็บปกติทั้งสิ้น 56 วัน ส่วนเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินเกณฑ์ควบคุมตัวบน หลังจากนั้นปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับกักเก็บปกติ จนเกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนในวันที่ 6 ส.ค. 61

[ more ]
ภาพน้ำล้น spillway เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร




น้ำท่วมบริเวณ จ.เพชรบุรี
สิงหาคม 2561

เดือนกรกฎาคม 2561 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงเกือบตลอดเดือน ประกอบกับร่องมรสุมได้พาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว ในช่วงกลางเดือน นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เซินติญ" (SONTINH) ที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทย โดยอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบนในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ต่อมาในเดือนสิงหาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดทั้งเดือน โดยมีกำลังแรงในช่วงกลางเดือน ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ลาวตอนบน และเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน และในบางช่วงร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศไทยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นอกจากนี้ในช่วงกลางเดือนพายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดเชียงรายในช่วงเช้าของวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ขณะมีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชัน จากนั้นได้เคลื่อนผ่านจังหวัดเชียงใหม่

พร้อมทั้งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมประเทศเมียนมา จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เพียงวันเดียวมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสูงถึง 159.89 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรายวันที่สูงที่สุดของเขื่อนแก่งกระจานตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำกักเก็บในอ่างเริ่มเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2561 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินเกณฑ์ควบคุมตัวบนในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้นปริมาณน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับกักเก็บปกติตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2561 และเกิดสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 13 กันยายน 2561 สถานการณ์จึงเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมระยะเวลาที่น้ำเกินระดับกักเก็บปกติทั้งสิ้น 39 วัน โดยมีปริมาณน้ำกักเก็บสูงสุด 777.54 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำกักเก็บมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2546 2549 และ 2550 ซึ่งเป็นปีที่เคยเกิดน้ำล้น

เขื่อน แต่ หากเทียบระยะเวลาที่ปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บของแต่ละปี จะพบว่า ปี 2546 มีระยะเวลานานที่สุดถึง 54 วัน โดยเกิดสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2546 จากสถานการณ์ฝนตกหนักรวมทั้งปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนแก่งกระจาน ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มสูงขึ้นและเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง โดยที่บริเวณ ต. ต้นมะม่วง อ. เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี เกิดระดับล้นตลิ่งตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 61 จนถึงวันที่ 26 ส.ค. 61 รวม 6 วัน โดยมีระดับน้ำสูงสุด 6.75 เมตร รทก. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 61 ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่ง 0.65 เมตร และที่บริเวณ ต. กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เกิดระดับน้ำล้นตลิ่งตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 61 จนถึงวันที่ 10 ก.ย. 61 รวม 35 วัน โดยมีระดับน้ำสูงสุด 27.68 เมตร รทก. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 61 ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่ง 1.59 เมตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 โดยมีน้ำท่วม ใน 6 อำเภอ 20 ตำบล 76 หมู่บ้าน 17 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 497 ครัวเรือน 2,048 คน

[ more ]









น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุ "เบบินคา" (BEBINCA)
สิงหาคม 2561

ช่วงวันที่ 16-18 สิงหาคม 2561 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เบบินคา" (BEBINCA) ที่เคลื่อนตัวผ่านตอนบนของจังหวัดน่าน เชียงราย และเชียงใหม่ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ในขณะที่ความแรงของพายุอยู่ในระดับดีเปรสชัน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศพม่าและลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 ซึ่งอิทธิพลของพายุส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดน่าน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ นอกจากนี้อิทธิพลของพายุยังส่งผลทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งทำให้ด้านรับลม ทั้งทางด้านตะวันตกของภาคใต้และบริเวณภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ฝนตกหนักดังกล่าวส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ภาคเหนือมีระดับเพิ่มสูงขึ้นและบางจุดเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำน่าน บริเวณ อ.ท่าวังผา อ.ภูเพียง และอ.เวียงสา น้ำเงิน บริเวณ อ.ปง จ.พะเยา น้ำม่าว บริเวณ อ.ปง จ.พะเยา น้ำคูณ บริเวณ อ.ปง จ.พะเยา น้ำแม่จั๊วะ บริเวณ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา แม่น้ำวังทอง บริเวณ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก น้ำปาด บริเวณ อ.น้ำปาด

จ.อุตรดิตถ์ แม่น้ำลาว บริเวณ อ.เมือง จ.เชียงราย น้ำแม่จัน บริเวณ อ.แม่จัน จ.เชียงราย และ แม่น้ำยม บริเวณ อ.หนองม่วงไข่ และ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ทั้งนี้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด เป็นการล้นตลิ่งเพียงระยะเวลาสั้น ๆ และสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว นอกจากนี้ฝนที่ตกหนักยังส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพิ่มสูงขึ้น โดยเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสุดสุด 66.87 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 แต่ยังคงมีการระบายน้ำอยู่ที่วันละประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเขื่อนยังคงอยู่ในสถานการณ์น้ำปานกลาง จึงไม่จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสูงสุด 171.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำไหลลงอ่างที่ค่อนข้างมาก ทั้งนี้อิทธิพลจากพายุส่งผลทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนค่อนข้างมาก เกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2561 และแม้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจะลดลง แต่ยังคงอยู่ที่ประมาณ 97 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังถือเป็นปริมาณน้ำค่อนข้างมากต่อเนื่อง จึงได้มีการการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงวันที่ 21-31 สิงหาคม 2561

ส่วนเขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่งัด บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา บริเวณจังหวัดลำปาง ที่ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นมาก แต่สถานการณ์น้ำไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตแต่อย่างใด โดยเฉพาะเขื่อนแม่กวงและเขื่อนแม่งัด เนื่องจากปริมาณน้ำที่กักเก็บอยู่ในเขื่อนมีค่อนข้างน้อย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม โดยตั้งแต่วันที่ 17-19 สิงหาคม 2561 เกิดสถานการณ์ใน 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องงสอน รวม 38 อำเภอ 146 ตำบล 6,002 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลลกระทบ 9,1106 ครัวเรือน 21,286 คน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน และจังหวัดเชียงราย จังหวัดละ 1 ราย ทั้งนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง และยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ น่าน พะเยา และเชียงราย รวม 24 อำเภอ 119 ตำบล 5,339 หมู่บ้าน ประชาาชน ได้รับผลกระะทบ 8,979 ครัวเรือน 200,964 คน

[ more ]






น้ำท่วมบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พฤศจิกายน 2561

ช่วงวันที่ 6-11 พฤศจิกายน 2561 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางอย่างต่อเนื่อง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงเช่นกัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง รวมทั้งหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างที่ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซียแล้วเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ส่งผลทำให้เกือบทุกภาคของ

ประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง จากอิทธิพลดังกล่าว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 7 - 12 พ.ย.2561 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และเพชรบุรี รวม 13 อำเภอ 82 ตำบล 675 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,694 ครัวเรือน 71,702 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่

3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพาน และอำเภอทับสะแก รวม 17 ตำบล 152 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 12,398 ครัวเรือน 27,961 คน เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดชุมพร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปะทิว อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอท่าแซะ และอำเภอละแม รวม 62 ตำบล 521 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,296 ครัวเรือน 43,741 คน เสียชีวิต 2 ราย โรงเรียน 65 แห่ง ถนน 1,014 สาย สะพาน 57 แห่ง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 8,991 ไร่

[ more ]