
รายงานรายสัปดาห์ย้อนหลัง
คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ข้อมูลน้ำ ฝน พายุ ข้อมูลน้ำประเทศไทย ข้อมูลฝนประเทศไทย คลังข้อมูลน้ำ National Hydro Informatics and Climate Data Center NHC คาดการณ์ฝนล่วงหน้า ผังน้ำเจ้าพระยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสน. องค์การมหาชน
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 48/2566 (ระหว่างวันที่ 21-27 พ.ย. 66)
29-11-2023 14:11:34 น.
สัปดาห์นี้บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมา ปกคลุมประเทศไทยตอนบนในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ ส่วนบริเวณภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงได้เคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตลอดสัปดาห์โดยมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะด้านฝั่งตะวันออกของภาค
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 47/2566 (ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ย. 66)
23-11-2023 09:10:23 น.
วันที่ 14 พ.ย. 66 ประเทศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว เนื่องจากอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิหนาวเย็นในหลายพื้นที่ ลมระดับล่างที่ความสูงน้อยกว่า 3.5 ม. เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก และลมระดับบนที่ความสูง 5 กม. เป็นลมฝ่ายตะวันตก และปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ในช่วงวันที่ 16-20 พ.ย. 66 โดยมีฝนตกหนักมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 169 มิลลิเมตร สงขลา 146 มิลลิเมตร นราธิวาส 114 มิลลิเมตร ชุมพร 115 และระนอง 113 มิลลิเมตร ทำให้ช่วงวันที่ 16-18 พ.ย. 66 เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพัทลุงนครศรีธรรมราช และมีน้ำท่วมถนนสายเอเชีย 41 บริเวณอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และวันที่ 20 พ.ย. 66 เกิดดินลไลด์ที่จังหวัดนราธิวาส
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 46/2566 (ระหว่างวันที่ 7-13 พ.ย. 66)
15-11-2023 09:22:33 น.
สัปดาห์นี้บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับลมตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทยในวันที่ 8-9 พ.ย. 66 อีกทั้งยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซียในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนน้อย ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ สำหรับภาคใต้มีฝนตกตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 45/2566 (ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-6 พ.ย. 66)
07-11-2023 10:26:57 น.
สัปดาห์นี้บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ และมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามันตลอดทั้งสัปดาห์ ส่งผลให้มีฝนตกมีฝนตกปานกลางถึงตกหนักบริเวณประเทศไทยตอบนในช่วงต้นสัปดาห์และปลายสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตกปานกลางถึงตกหนักในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์และปริมาณฝนลดลงในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 44/2566 (ระหว่างวันที่ 24-30 ต.ค. 66)
31-10-2023 16:03:21 น.
สัปดาห์นี้บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่างในช่วงต้นสัปดาห์ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนในช่วงปลายสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้พายุไซโคลนฮอมูน (HAMOON) ได้เคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 25 ต.ค. 66 ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 43/2566 (ระหว่างวันที่ 17-23 ต.ค. 66)
24-10-2023 17:07:08 น.
สัปดาห์นี้มีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตลอดทั้งสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคใต้และภาคกลางในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์และมีลมตะวันออกพัดเข้ามาปกคลุมบริเวณทะเลอ่าวไทย ภาคกลาง และภาคใต้ในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตลอดทั้งสัปดาห์ ส่วนบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมอ่าวตังเกี๋ยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกกระจายตัวบางพื้นที่
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 42/2566 (ระหว่างวันที่ 10-16 ต.ค. 66)
18-10-2023 14:03:22 น.
จากอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร วัดปริมาณฝนได้ 160.5 มิลลิเมตร เชียงราย 139 มิลลิเมตร น่าน 104.5 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 102.5 มิลลิเมตร อุตรดิตถ์ 99.6 มิลลิเมตร นครสวรรค์ 98.5 มิลลิเมตร ราชบุรี 93.5 มิลลิเมตร และแพร่ 92 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มบริเวณอำเภอแม่จันและแม่สาย จังหวัดเชียงราย อีกทั้งฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 41/2566 (ระหว่างวันที่ 3-9 ต.ค. 66)
10-10-2023 15:49:57 น.
จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ตลอดทั้งสัปดาห์ ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวม 30 จังหวัด 110 อำเภอ 414 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกกระทบ 48,554 ครัวเรือน ซึ่งฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้นและทำให้มีน้ำล้นเขื่อนถึง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำปาว เขื่อนแม่มอก และเขื่อนแม่งัด
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 40/2566 (ระหว่างวันที่ 26 ก.ย. - 2 ต.ค. 66)
04-10-2023 13:00:38 น.
จากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ตามแนวร่องมรสุมในช่วงต้นสัปดาห์ กับร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยเกือบตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ โดยสามารถวัดปริมาณฝนตกหนักมาก ได้แก่ จังหวัดลำปาง 217 มิลลิเมตร แพร่ 216.5 มิลลิเมตร สุโขทัย 139.5 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 131.5 มิลลิเมตร เพชรบูรณ์ 117.5 มิลลิเมตร ตาก 117 มิลลิเมตร น่าน 113.5 มิลลิเมตร และลำพูน 99.8 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก และแพร่
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 39/2566 (ระหว่างวันที่ 19-25 ก.ย. 66)
26-09-2023 09:49:45 น.
อิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนบนในวันที่ 22 ก.ย. 66 และมีร่องมรสุมที่เลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ย. 66 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ที่มีฝนตกหนักมากบริเวณด้านตะวันตกของภาค โดยจังหวัดภูเก็ตสามารถตรวจวัดปริมาณฝนสูงสุด 123 มิลลิเมตร ในวันที่ 22 ก.ย. 66 และทำให้เกิดน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ที่เทศบาลป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 38/2566 (ระหว่างวันที่ 12-18 ก.ย. 66)
20-09-2023 10:07:09 น.
อิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่างในครึ่งหลังของสัปดาห์ รวมถึงร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยมีฝนสะสม 5 วัน (ช่วงวันที่ 13-17 ก.ย. 66) สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดตราด 338 มิลลิเมตร สุโขทัย 247 มิลลิเมตร และจันทบุรี 243 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 21 จังหวัด ส่งผลกระทบ 45 อำเภอ 73 ตำบล 152 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 659 ครัวเรือน นอกจากนี้ฝนที่ตกหนักในช่วง 5 วันนี้ ช่วยทำให้ภาคเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนสะสม 890 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนสะสม 693 ล้าน ลบ.ม.
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 37/2566 (ระหว่างวันที่ 5-11 ก.ย. 66)
13-09-2023 11:45:16 น.
อิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงตลอดทั้งสัปดาห์ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยที่จังหวัดเชียงรายมีปริมาณฝนสะสมรายชั่วโมงสูงสุด 34.4 มิลลิเมตร ในวันที่ 10 ก.ย. 66 เวลา 09.00 น. และที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีปริมาณฝนสะสม 2 ชั่วโมง สูงถึง 88 มิลลิเมตร ในวันที่ 10 ก.ย. 66 เวลา 19.00-20.00 น. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 9-11 ก.ย. 66 ยังได้เกิดน้ำท่วมในอีก 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก มุกดาหาร อุดรธานี ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี และสตูล รวมทั้งสิ้น 16 อำเภอ 38 ตำบล 140 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 5,300 ครัวเรือน
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 36/2566 (ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. - 4 ก.ย. 66)
05-09-2023 16:03:29 น.
จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยพายุไห่ขุยและคีโรบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่กลับทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณใกล้เคียงมีกำลังแรง ส่งผลให้ร่องมรสุมและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 1-4 ก.ย. 66 เกิดฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน โดยสามารถวัดปริมาณฝนรายวันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดตรัง 627 มิลลิเมตร ตราด 496.6 มิลลิเมตร จันทบุรี 256 มิลลิเมตร ระนอง 231.4 มิลลิเมตร และพังงา 218.2 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ชัยภูมิ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี พังงา และสตูล รวมทั้งสิ้น 14 อำเภอ 36 ตำบล 146 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,561 ครัวเรือน อีกทั้งยังส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสม (วันที่ 29 ส.ค. - 4 ก.ย. 66) ของเขื่อนสิรินธรสูงถึง 183 ล้านลูกบาศก์เมตร และสูงสุดในวันที่ 1 ก.ย. 66 ถึง 103 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนรัชชประภาน้ำไหลลงเขื่อนสะสม (วันที่ 2-4 ก.ย. 66) สูงถึง 152 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนภูมิพลน้ำไหลลงเขื่อนในวันที่ 4 ก.ย. 66 สูงถึง 29 ล้านลูกบาศก์เมตร
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 35/2566 (ระหว่างวันที่ 22-28 ส.ค. 66)
29-08-2023 13:19:39 น.
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาแล้วประมาณ 4 เดือน มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-27 ส.ค. 66 ประมาณ 550 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่าปกติประมาณ 230 มิลลิเมตร หรือประมาณ 31 % ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมในช่วง 4 เดือนนี้ประมาณ 10,891 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียง 2,664 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับข้อมูลตั้งแต่ปี 2562-2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562-2563 ที่ประเทศไทยประสบภัยแล้งรุนแรง
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 34/2566 (ระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. 66)
22-08-2023 10:23:13 น.
จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประเทศลาวตอนบน และประเทศเมียนมา ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ในวันที่ 20 ส.ค. 66 บริเวณกรุงเทพมหานครเกิดฝนตกปานกลางถึงหนักติดต่อกัน 3 ชั่วโมง (ช่วงเวลา 17.00-20.00 น.) โดยสามารถวัดฝนตกสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เขตตลิ่งชัน 99.5 มิลลิเมตร เขตบางกอกน้อย 87.5 มิลลิเมตร และเขตพระนคร 84.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าว และบริเวณตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ วัดฝนสะสม 3 ชั่วโมง (19.00-22.00 น. )ได้ 77 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณถนนศรีนครินทร์และถนนเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 33/2566 (ระหว่างวันที่ 8-14 ส.ค. 66)
15-08-2023 15:35:30 น.
สัปดาห์นี้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบนในช่วงต้นสัปดาห์และปลายสัปดาห์ และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนตลอดทั้งสัปดาห์ ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้โดยเฉพาะด้านตะวันตกมีฝนตกปานกลางถึงตกหนักตลอดทั้งสัปดาห์
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 32/2566 (ระหว่างวันที่ 1-7 ส.ค. 66)
15-08-2023 11:26:55 น.
จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประเทศลาวตอนบน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวในหลายพื้นที่ โดยสามารถวัดปริมาณฝนสะสมรายวันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระนอง 229.5 มิลลิเมตร ตาก 199.6 มิลลิเมตร นครพนม 164.6 มิลลิเมตร บึงกาฬ 148.8 มิลลิเมตร และน่าน 132.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง และดินสไลด์ทับเส้นทางบริเวณอำเภอท่าวังผา ปัว ดอยภูคา และบ่อเหลือ จังหวัดน่านในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. 66 และเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ตลาดชุมชนริมน้ำเมย บริเวณจังหวัดตาก รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ ในช่วงวันที่ 4 ส.ค. 66
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 31/2566 (ระหว่างวันที่ 25-31 ก.ค. 66)
01-08-2023 20:30:19 น.
สัปดาห์นี้มีร่องมรสุมพดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบน ประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 25 ก.ค. 66 และช่วงวันที่ 29-31 ก.ค. 66 โดยหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตลอดทั้งสัปดาห์ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้มีฝนตกบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกตลอดทั้งสัปดาห์
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 30/2566 (ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ค. 66)
25-07-2023 16:56:22 น.
จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดสัปดาห์ และพายุโซนร้อนกำลังแรง “ตาลิม” (TALIM) ในช่วงวันที่ 14-19 ก.ค. 66 ทำให้ประเทศไทยเกิดฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวในหลายพื้นที่ โดยสามารถวัดปริมาณฝนสะสมรายวันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดตราด 363.5 มิลลิเมตร ระนอง 213.2 มิลลิเมตร ระยอง 201.6 มิลลิเมตร พังงา 186 มิลลิเมตร และชุมพร 165.6 มิลลิเมตร ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยวันที่ 18 ก.ค. 66 พื้นที่ภาคใต้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมในพื้นที่จังหวัดระนอง รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น สุขสำราญ และกะเปอร์ และจังหวัดชุมพร อำเภอสวี รวมทั้งสิ้น 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งระยะ ครน และวิสัย วันที่ 20-21 ก.ค. 66 พื้นที่ภาคตะวันออกเกิดน้ำท่วมขัง และน้ำป่าไหลหลากบริเวณจังหวัดระยอง อำเภอปลวกแดง ตำบลแม่น้ำคู้ และจังหวัดตราด อำเภอเมืองตราดและแหลมงอบ และวันที่ 21-22 ก.ค. 66 เกิดน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 12 เขต ได้แก่ เขตบางเขน พญาไท ห้วยขวาง ดินแดง บึงกุ่ม บางซื่อ จตุจักร คลองเตย สวนหลวง หลักสี่ วัฒนา และวังทองหลาง โดยสามารถวัดปริมาณฝนสะสมรายชั่วโมง (เวลา 00.00-01.00 น. วันที่ 22 ก.ค. 66) สูงสุด 5 อันดับแรกในพื้นที่เขตพระโขนง 104 มิลลิเมตร คลองเตย 95.5 มิลลิเมตร วังทองหลาง 82.5 มิลลิเมตร จตุจักร 80.5 มิลลิเมตร และบางกะปิ 79 มิลลิเมตร
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 29/2566 (ระหว่างวันที่ 11-17 ก.ค. 66)
19-07-2023 15:39:31 น.
สัปดาห์นี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามตอนบนตลอดทั้งสัปดาห์ กับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ลาว ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อความกดอากาศต่ำดังกล่าว ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 66 ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก