ข่าว : การประชุมครม. วันที่ 25 พ.ค. 47 เรื่องที่ 27 สรุปสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและโคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ข่าว : การประชุมครม. วันที่ 25 พ.ค. 47 เรื่องที่ 28 รายงานสถานการณ์อุทกภัย อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และ อำเภออมก๋อย
   จังหวัดเชียงใหม่

 

ข่าว : การประชุมครม. วันที่ 25 พ.ค. 47 เรื่องที่ 27
สรุปสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและโคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน


         คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยรายงานสรุปสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและโคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนดังนี้

1. สถานการณ์
     1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือน ฉบับที่ 2 (5/2547ป เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 เวลา 11.00 น. เรื่อง พายุไซโคลน 02B ในอ่าวเบงกอลตอนบน เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศพม่าทางตะวันออกค่อนทางเหนือ และได้อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชั่น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 19-20 พฤษภาคม 2547 ปริมาณฝนตกในบริเวณดอยสามหมื่นระหว่างรอยต่อจังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ วัดได้ 124.7 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และโคลนถล่ม ในพื้นที่ลาดเชิงเขา โดยเฉพาะที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แยกสถานการณ์ได้ดังนี้
          1) จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ปริมาณน้ำในลำห้วยแม่ระมาด และลำห้วยขะเนจื้อ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและล้นฝั่งทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร หมู่ที่ 2 3 4 5 6 และหมู่ที่ 8 ตำบลแม่ระมาด รวม 7 หมู่บ้าน โดยน้ำป่าได้นำโคลนและไม้ซุงขนาดต่าง ๆ ไหลเข้าสู่หมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลแม่ระมาด ได้รับความเสียหายมาก
          2) จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 12 หมู่บ้าน ตำบลแม่ตื่น ม่อนจอง และตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย
          3) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ตำบลแม่สวด และตำบลแม่ทะลุ อำเภอสบเมย

2. ความเสียหาย
     - มีพื้นที่ประสบภัย 3 อำเภอ 3 จังหวัด (อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
     - ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,483 ครัวเรือน 5,905 คน มีผู้เสียชีวิต 6 คน (จังหวัดตาก 5 คน จังหวัดเชียงใหม่ 1 คน)
     - บ้านเรือนเสียหาย 624 หลัง แบ่งเป็นเสียหายทั้งหลัง 229 หลัง เสียหายบางส่วน 395 หลัง
     - สิ่งสาธารณะประโยชน์ ถนน ทำนบ เหมือง ฝาย และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก

3. การให้ความช่วยเหลือ
     3.1 การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายประมวล รุจนเสรี) พร้อมด้วย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคณะ ได้เดินทางไปในพื้นที่ประสบภัยที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย และสั่งการให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นโดยเร่งด่วนแล้ว
     3.2 การช่วยเหลือที่ต้องดำเนินการต่อไป
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหายในระยะต่อไปแล้ว ดังนี้
          1) ด้านการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย ซากปรักหักพัง บ้านเรือนราษฎร การขนย้ายท่อนซุง เศษไม้ และโคลนที่ถล่ม โดยขอให้กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ พร้อมเครื่องจักรกล ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
          2) ด้านเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย โดยขอให้กระทรวงคมนาคม เข้าดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมถนน สะพานที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
          3) ด้านการฟื้นฟูจิตใจ โดยขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าดำเนินการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย และครอบครัว ตลอดจนการสงเคราะห์การประกอบอาชีพในระยะสั้น
          4) ด้านการเกษตร โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สนับสนุนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัย และปรับปรุงสภาพพื้นที่การเกษตรที่ถูกโคลน ทราบทับถม
          5) ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดที่อยู่อาศัย โดยขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าดำเนินการจัดหาที่ดินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่กรณีที่ไม่ประสงค์จะอยู่ในพื้นที่เดิมอีกต่อไป
          6) ด้านการจัดหาอาชีพ โดยขอให้กระทรวงแรงงาน เข้าดำเนินการฝึกอบรมอาชีพระยะสิ้น และจัดหางานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประสบภัย

4. แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว
     จากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และโคลนถล่มดังกล่าว เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำซึ่งเป็นภูเขาสูง และมีการอพยพตั้งถิ่นฐานในบริเวณริมลำห้วย ในพื้นที่ลาดเชิงเขาซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากโคลนถล่มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว เห็นควรให้จังหวัดที่ประสบภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
     1) เร่งรัดให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ในบริเวณต้นน้ำให้มากขึ้น
     2) ขุดลอกลำห้วย ลำคลอง และแม่น้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกขึ้น
     3) เพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และปลูกป่าทดแทนให้มากยิ่งขึ้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
     4) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดระบบการอพยพตั้งถิ่นฐานของประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวทุกแห่ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

กลับสู่ด้านบน


ข่าว : การประชุมครม. วันที่ 25 พ.ค. 47 เรื่องที่ 28
รายงานสถานการณ์อุทกภัย
อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่


          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานสถานการณ์อุทกภัย อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

1. สถานการณ์และความเสียหาย
     1.1 อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
          1) สถานการณ์
พื้นที่เกิดเหตุใน 10 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจาก ห้วยขะเนจือ ห้วยคต ห้วยแม่ระมาดน้อย และห้วยนกแล รวมตัวกันไหลลงสู่ห้วยแม่ระมาด แล้วไหลลงสู่แม่น้ำเมย ต้นน้ำของลำห้วยเหล่านี้ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ และป่าสงวนแห่งชาติแม่ระมาด
ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 มีฝนตกหนักตลอดวันทำให้ปริมาณน้ำสูงมาก น้ำเริ่มหลากเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 เวลาประมาณ 08.00 น. และระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเวลาประมาณ 15.00 น. น้ำเริ่มลดลงและสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2547 เวลาประมาณ 12.00 น.
          2) ความเสียหาย
                    2.1) ราษฎรเสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 105 คน
                    2.2) หมู่บ้านได้รับความเสียหาย 10 หมู่บ้าน
                    2.3) บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 378 หลัง แยกเป็นน้ำพัดสูญหาย 43 หลัง เสียหายทั้งหลัง 125 หลัง เสียหายบางส่วน 210 หลัง
                    2.4) ราษฎร ได้รับความเดือดร้อน 2,135 ครัวเรือน 8,846 คน (อพยพไปที่ปลอดภัย 2,134 ครัวเรือน 8,842 คน)
                    2.5) ถนน เสียหาย 19 สาย (ดินถล่มทับถนน 9 แห่ง)
                    2.6) สะพานเสียหาย 4 แห่ง (ถูกน้ำพัดทั้งสะพาน 1 แห่ง)
                    2.7) ฝายกั้นน้ำ เสียหาย 21 แห่ง
     1.2 อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
          1) สถานการณ์
พื้นที่เกิดเหตุในพื้นที่ตำบลแม่ตื่นและตำบลม่อนจองของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำฝนตกหนักในช่วงวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2547 (เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อกับอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งเกิดเหตุฝนตกหนักในช่วงเวลาเดียวกัน) และเมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2547 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้เกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่ตำบลแม่ตื่นและตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางจากเชียงใหม่ถึงตำบลแม่ตื่นประมาณ 250 กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง
          2) ความเสียหาย
                   2.1) หมู่บ้านเสียหาย 2 ตำบล คือ ตำบลแม่ตื่น และตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
                   2.2) บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 370 หลัง (เสียหายทั้งหลัง 10 หลัง)
                   2.3) สะพาน เสียหาย 2 แห่ง
                   2.4) ไม่พบผู้เสียชีวิต

2. สาเหตุ
     2.1 ปริมาณน้ำฝนตกหนักมากกว่าเกณฑ์ปกติ
ในระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2547 ปริมาณน้ำฝนหนักมากกว่าปกติ โดยเฉพาะวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 160 มิลลิเมตร ทำให้ดินบนภูเขาสูงชันไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ เกิดดินถล่มลงมาอย่างรุนแรงในบริเวณป่าธรรมชาติและไร่ร้าง
     2.2 ป่าถูกบุกรุกทำลาย
สภาพป่าธรรมชาติบนพื้นที่ต้นน้ำลำธารได้ถูกบุกรุกทำลาย รวมทั้งทำไร่หมุนเวียน ทำให้ขาดไม้ธรรมชาติยืนต้นที่มีระบบรากแข็งแรงยึดชั้นดินหลายระดับและปกคลุมหน้าดิน ทำให้หน้าดินและสภาพป่าไม่สามารถดูดซับและอุ้มน้ำได้ตามปกติ
การดำเนินงานเบื้องต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปตรวจสภาพพื้นที่ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 และได้สั่งการในเบื้องต้น ดังนี้
1. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
     1.1 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พร้อมทั้ง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ ประสานกับทางจังหวัด ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากและอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง
     1.2 ให้เคลื่อนย้ายต้นไม้ เศษไม้ และปลายไม้ ที่กระจายอยู่ทั่วไปและกีดขวางทางน้ำในบริเวณเกิดเหตุกรณีไม้ที่ไหลตามน้ำ มีลักษณะเป็นทั้งไม้แห้งและไม้สด ได้สั่งการให้ป่าไม้จังหวัดตากและป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ทำการตรวจสอบแยกชนิดขนาด และลักษณะของไม้ให้แล้วเสร็จ ภายใน 10 วัน
     1.3 สำนักงานบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ตาก) สำนักงานป่าไม้จังหวัดตาก สำนักงานบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และสำนักงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยเข้าช่วยเหลือราษฎรร่วมกับฝ่ายปกครองในเบื้องต้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2547 รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือราษฎรในท้องที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รวม 46 นาย
2. การแก้ปัญหาระยะยาว
     2.1 ให้กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ ตรวจสอบและสำรวจพื้นที่โดยละเอียด เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง โดยด่วน และจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มและน้ำท่วมให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป รวมทั้งให้ย้ำประกาศเตือนภัยและเฝ้าระวังภัยดินถล่มเป็นพิเศษ โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน
    2.2 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธารและส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นและวนเกษตรทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย พร้อมทั้ง กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแผ้วถางป่าอย่างจริงจังและเข้มงวด โดยให้ติดตามตรวจสอบผลคดีด้วย ถ้าหากเป็นนายทุนให้ทำการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดและให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ปปง. ด้วย และในการป้องกันรักษาป่าควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
     2.3 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพและสมรรถนะของพื้นที่

กลับสู่ด้านบน