Home งานวิจัย/ความรู้ ความรู้ทั่วไป การติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง - ภาคผนวก ข: กรณีตัวอย่าง
การติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง - ภาคผนวก ข: กรณีตัวอย่าง
ดัชนีบทความ
การติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง
การติดตามสภาพอากาศปัจจุบัน
การใช้งานระบบ Internet GIS
หน่วยงานและแหล่งข้อมูลเตือนภัย
ภาคผนวก ก: เกณฑ์และความหมาย
ภาคผนวก ข: กรณีตัวอย่าง
ทุกหน้า

ภาคผนวก ข: กรณีตัวอย่างจากบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม

ตัวอย่างที่ 1 น้ำท่วมภาคใต้ จากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ช่วงปลายเดือนมีนาคมปี 2554

สถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 6 เมษายน 2554)
พื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา สตูล และจังหวัดนราธิวาส 100 อําเภอ 650 ตําบล 5,378 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 603,486 ครัวเรือน จำนวน 2,021,131 คน

 

ที่มา : ตัดเฉพาะส่วนมาจากรายงานสรุปสถานการณ์สาธารณภัยประจำสัปดาห์ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย http://www.disaster.go.th/

การคาดการณ์และติดตามสภาพอากาศ

1.ภาพคาดการณ์ลมและฝน

ภาพที่ ข-1 ภาพคาดการณ์ลมจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2554

ภาพที่ ข-2 ภาพคาดการณ์ฝนจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2554

 

จากภาพที่ ข-1 และ ข-2 คาดการณ์ได้ว่า ช่วงวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2554 จะมีลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตลอดช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง

 

2. ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9

ภาพที่ ข-3 ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9 ช่วงวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2554

 

จากภาพที่ ข-3 พบว่ามีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณภาคใต้ตลอดช่วง เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณดังกล่าวตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

3. ภาพแผนที่อากาศ

ภาพที่ ข-4 ภาพแผนที่อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2554

จากภาพที่ ข-4 พบว่า มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

4. ภาพความสูงและทิศทางของคลื่นทะเล

ภาพที่ ข-5 ภาพความสูงและทิศทางของคลื่นทะเล ช่วงวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2554

จากภาพที่ ข-5 พบว่าบริเวณฝั่งอ่าวไทยมีคลื่นแรงตลอดช่วง โดยทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และพัดเข้าฝั่งตลอดช่วง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง

เปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัด

จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมกำลังแรงปกคลุมบริเวณดังกล่าวตลอดช่วง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ฝนและติดตามสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าจะมีฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติพัฒนาโดยสสนก. และสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา (ภาพที่ ข-6 และ ข-7 ตามลำดับ) พบว่า มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในภาคใต้จริงสอดคล้องกับผลการคาดการณ์

ภาพที่ ข-6 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติพัฒนาโดยสสนก. ช่วงวันที่ 26 - 29 มี.ค. 2554

ภาพที่ ข-7 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ ช่วงวันที่ 26 - 29 มี.ค. 2554 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา

 

 

ตัวอย่างที่ 2 น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุนกเตน ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปี 2554

สถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554)

พื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 30 จังหวัด 259 อำเภอ 1,772 ตำบล 14,856 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชัยนาท ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,041,639 ครัวเรือน 3,578,168 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 19 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 4,566 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2,235,626 ไร่ ถนน 5,857 สาย ท่อระบายน้ำ 707 แห่ง ฝาย 664 แห่ง ทำนบ 123 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 466 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง 24,274 บ่อปศุสัตว์ 164,253 ตัว มีผู้เสียชีวิต 46 ราย

ที่มา : ตัดมาเฉพาะบางส่วนของรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย http://www.disaster.go.th/

การคาดการณ์และติดตามสภาพอากาศ

1. ภาพคาดการณ์ลมและฝน

ภาพที่ ข-8 ภาพคาดการณ์ลมจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554

ภาพที่ ข-9 ภาพคาดการณ์ฝนจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554

จากภาพที่ ข-8 และ ข-9 คาดการณ์ได้ว่า ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554 จะมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะในวันที่ 30 - 31 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากอิทธิพลของพายุนกเตนที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย

2. ภาพเส้นทางพายุ

ภาพที่ ข-10 ภาพคาดการณ์เส้นทางพายุนกเตนช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554

จากภาพที่ ข-10 พบว่า ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ดีเปรสชั่นบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "นกเตน" (Nock-ten) ซึ่งมีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลาง สูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวอยู่ห่างจากจังหวัดกามารินส์ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 100 กิโลเมตร โดยกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือ และมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าสู่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนามในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

3. ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9

ภาพที่ ข-11 ภาพเมฆจากดาวเทียม GOES9 ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554.

จากภาพที่ ข-11 พบว่า มีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณตอนบนของประเทศ เนื่องจากอิทธิพลของพายุนกเตน และร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

4. ภาพแผนที่อากาศ

ภาพที่ ข-12 ภาพแผนที่อากาศ ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554

จากภาพที่ ข-12 พบว่า ในช่วงวันที่ 29 - 30 กรกฎาคม 2554 พายุโซนร้อน "นกเตน" (Nock-ten) ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และได้อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชั่นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน จากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงใหม่และแม่ฮ่อนสอน ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง

เปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงในอดีต

จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2554 เนื่องจากอิทธิพลของพายุนกเตน ประกอบกับมีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ฝนและติดตามสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าจะมีฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติที่พัฒนาโดย สสนก. และสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา (ภาพที่ ข-13 และ ข-14 ตามลำดับ) พบว่า มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจริงสอดคล้องกับผลการคาดการณ์

ภาพที่ ข-13 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554 โดย สสนก.

ภาพที่ ข-14 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554 โดย กรมอุตุนิยมวิทยา

ตัวอย่างที่ 3 น้ำท่วมภาคตะวันออก จากร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรง ช่วงกลางเดือนกันยายน 2555

การคาดการณ์และติดตามสภาพอากาศ

1. ภาพคาดการณ์ฝน

ภาพที่ ข-15 ภาพคาดการณ์ฝนจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 14 - 16 กันยายน 2555

จากภาพที่ ข-15 คาดการณ์ได้ว่า ช่วงวันที่ 14 - 16 กันยายน 2553 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกตลอดช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด

2. ภาพถ่ายดาวเทียม GOES9

ภาพที่ ข-16 ภาพเมฆจากดาวเทียม GOES9 ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยายน 2555

จากภาพที่ ข-16 พบว่า มีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณตอนกลางของประเทศตลอดช่วง เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณดังกล่าวตลอดช่วง ทำให้พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่

3. ภาพแผนที่อากาศ

ภาพที่ ข-17 ภาพแผนที่อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยาย 2555

จากภาพที่ ข-17 พบว่า มีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านบริเวณตอนกลางของประเทศตลอดช่วง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง

เปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงในอดีต จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2555 เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านบริเวณตอนกลางของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ฝนและติดตามสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าจะมีฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติที่พัฒนาโดย สสนก. และสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา (ภาพที่ ข-18 และ ข-19 ตามลำดับ) พบว่า มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกจริงสอดคล้องกับผลการคาดการณ์

ภาพที่ ข-18 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยายน 2555 โดย สสนก.

ภาพที่ ข-19 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยายน 2555 โดย กรมอุตุนิยมวิทยา

1784 (24 ชม.)


แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2016 เวลา 14:24 น.
 
Home งานวิจัย/ความรู้ ความรู้ทั่วไป การติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง - ภาคผนวก ข: กรณีตัวอย่าง