Home งานวิจัย/ความรู้ ความรู้ทั่วไป แบบจำลองในการบริหารจัดการน้ำ
แบบจำลองในการบริหารจัดการน้ำ

การประยุกต์ใช้แบบจำลองในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
สถาบันฯ ได้พัฒนาและประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำในระดับปฏิบัติการ เช่น คำนวณปริมาณน้ำท่า อัตราการไหลของน้ำ และบ่งชี้บริเวณที่เกิดน้ำท่วมล้นตลิ่ง และใช้ข้อมูลดังกล่าวร่วมกับข้อมูลอื่นในการวางแผนระบายน้ำ จัดสรรน้ำ หรือ สำรองน้ำ
ตัวอย่างงานทางด้านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สถาบันฯนำมาใช้กับโครงการต่างๆ

1.  แบบจำลองการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะสั้น
2.  โครงการศึกษาความเหมาะสมพื้นที่แก้มลิงบริเวณคลองทับมา จังหวัดระยอง
3.  โครงการผังน้ำและแบบจำลอง
4.  โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์คลองสนามชัย-มหาชัย



1.  แบบจำลองการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะสั้น

 

สสนก. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้สรุปปัญหาน้ำท่วมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2549 และแนวทางการแก้ไขโดยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับแบบจำลอง AIT River Network Model ในการยืนยันพื้นที่ที่น้ำท่วม และระดับน้ำท่วม รวมถึงเสนอแนะการระบายน้ำผ่านคลองต่างๆ
AIT River Network Model เป็นแบบจำลองคณิตศาสตร์ ใช้ข้อมูลป้อนเข้า คือข้อมูลขนาด รูปร่าง หน้าตัดของแม่น้ำ ที่ได้จากการสำรวจจริง และข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม (Flood Plain) จริง แบบจำลอง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แบบจำลองการไหลในแม่น้ำ (River Model) และแบบจำลองการไหลในพื้นที่น้ำท่วม (Flood Plain Model)




2.  โครงการศึกษาความเหมาะสมพื้นที่แก้มลิงบริเวณคลองทับมา จังหวัดระยอง

จากปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดระยองในปี 2548 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะแปรปรวนของฝน ปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากภาคส่วนต่างๆ และการกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณต้นน้ำ รวมถึงการขาดระบบสำรองน้ำ ซึ่งยังคงมีความจำเป็นแม้จะมีน้ำเพียงพอ โครงการจึงมุ่งศึกษาสภาพอุทกวิทยา ประเมินการใช้น้ำ และวิเคราะห์สมดุลน้ำของลุ่มน้ำทับมา จังหวัดระยอง เพื่อเสนอแนะการบริหารความเสี่ยงน้ำท่วมน้ำแล้ง ด้วยการสำรองน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
โครงการนี้ใช้แบบจำลองประเมินปริมาณน้ำท่าและนำผลลัพธ์ไปคำนวณสภาพสมดุลน้ำ


3.   โครงการผังน้ำและแบบจำลอง
เป้าหมายของการใช้แบบจำลองเพื่อคำนวณปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านในช่วงน้ำหลาก ให้ผลลัพธ์ในรูปปริมาณน้ำท่าจากแต่ละลุ่มน้ำย่อย และอัตราการไหลในแม่น้ำ ทั้งนี้ ผลลัพธ์นำแสดงร่วมกับผังน้ำ แสดงผลผ่านระบบ Internet GIS

ตัวอย่างแบบจำลองน้ำท่า ลุ่มแม่น้ำแจ่ม
ศักยภาพน้ำท่ารายเดือนเฉลี่ยช่วงหน้าฝน
ตัวอย่างผลลัพธ์จากแบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า
แผนที่ฝน และปริมาณน้ำท่าผ่านลุ่มน้ำย่อยในลุ่มแม่น้ำแม่แจ่ม
ช่วงวันที่ 13-26 สิงหาคม 2539



4.  โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์คลองสนามชัย-มหาชัย

เป้าหมายหลักคือ ศึกษาหาแนวทางการปฏิบัติงาน (Operational Guidelines) กรณีฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก โดยอาศัยแบบจำลองและหุ่นจำลอง เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม คุณภาพน้ำเค็ม การตื้นเขินของลำคลอง การกัดเซาะริมตลิ่ง ในพื้นที่ศึกษาโดยอาศัยการบริหารประตูระบายน้ำ และการผันน้ำเข้าแก้มลิง ตามจังหวะขึ้นลงของน้ำทะเล
จากผลการศึกษาขั้นต้นพบว่า การปิดประตูระบายน้ำมหาชัยและผันน้ำเข้าแก้มลิง ในขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด สามารถลดระดับน้ำท่วมหลังประตูระบายน้ำมหาชัยลงไปได้ประมาณ 60 ซม.และทำให้น้ำในคลองมหาชัยเกิดการไหลเวียนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลประกอบการทำแบบจำลองขั้นต้นนี้ เช่นหน้าตัดคลองและความจุของแก้มลิงเป็นขนาดสมมุติซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มจากการสำรวจ

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 03 ธันวาคม 2014 เวลา 12:40 น.
 
Home งานวิจัย/ความรู้ ความรู้ทั่วไป แบบจำลองในการบริหารจัดการน้ำ