บันทึกเหตุการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากว่าค่ายจิรประวัติ (กันยายน 2553)

แผนผังลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและเจ้าพระยาตอนกลาง  
 

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนประกอบด้วยแม่น้ำสายหลักทั้งหมด 4 สาย คือ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ใต้เขื่อนภูมิพล กิ่วลม สิริกิติ์ตลอดแนวลงทางทิศใต้จนถึงบริเวณบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ การคำนวณปริมาณน้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนใช้ข้อมูลน้ำระบายจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ กิ่วลม แควน้อย และสถานีวัดน้ำท่า Y.1C สะพานบ้านน้ำโค้ง
ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลางครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบึงบอระเพ็ดจนถึงเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท ระหว่างทางมีการรับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังจังหวัดอุทัยธานี และผันน้ำออกสู่เส้นทางหลักสี่เส้นทางคือ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย การคำนวณปริมาณน้ำใช้ข้อมูลที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 ค่ายจิรประวัติ และสถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

โดยส่วนใหญ่ปริมาณน้ำไหลผ่านที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะน้อยกว่าที่ค่ายจิรประวัติอันเนื่องมาจากมีการระบายน้ำออกทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำ และเกิดการใช้น้ำจากภาคการเกษตรในบริเวณดังกล่าวค่อนข้างมาก ยกเว้นน้ำที่ไหลมาจากทางภาคเหนือและแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณมากประกอบกับมีฝนตกมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์และชัยนาท จึงส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านที่เขื่อนเจ้าพระยาสูงกว่าที่ค่ายจิรประวัติ

 

เปรียบเทียบข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่านรายวันที่สถานีค่ายจิรประวัติ(C.2) และสถานีท้ายเขื่อนเจ้าพระยา(C.13) ตั้งแต่ปี 1994 ถึง ปี 2010


จากกราฟแสดงข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่านตั้งแต่ปี 1994 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีเหตุการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าค่ายจิรประวัติที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ได้แก่ ช่วงเดือนตุลาคม 1995 , พฤษภาคม 1999 , พฤศจิกายน 1999 , ตุลาคม 2000 , ตุลาคม 2002 , ตุลาคม 2007
, กันยายน 2010


ปริมาณน้ำไหลผ่านรายวันที่สถานีเมืองอุทัยธานี (Ct.2A)  
 
จากกราฟแสดงปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีหน้าศาลากลางเมืองอุทัยธานี แม่น้ำสะแกกรัง พบว่าช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายน 2553 ปริมาณน้ำไหลผ่านค่อนข้างสูงส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้ามาสมทบในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากยิ่งขึ้น  

 

ปริมาณน้ำไหลผ่านรายวันที่สถานีค่ายจิรประวัติ(C.2) และสถานีท้ายเขื่อนเจ้าพระยา(C.13) ช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย. 53  
 
จากกราฟแสดงปริมาณน้ำไหลผ่านช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2553 พบว่าปริมาณน้ำเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยปริมาณน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน(ภูมิพล+กิ่วลม+Y1C+แควน้อย) มีปริมาณน้ำสูงสุด 96.52 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 31 สิงหาคม ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างปริมาณน้ำสูงสุดที่สถานีค่ายจิรประวัติอยู่ที่ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร (1,920 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ในวันที่ 21 กันยายน ส่วนที่สถานีท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำสูงสุด อยู่ที่ 195 ล้านลูกบาศก์เมตร (2,253 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ในวันที่ 22 กันยายน 2553 โดยปริมาณน้ำที่สถานีท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มมากกว่าที่สถานีค่ายจิรประวัติ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน จนถึงวันที่ 27 กันยายน และอัตราน้ำไหลผ่านที่เขื่อนเจ้าพระยาเริ่มสูงเกิน 2000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน จนถึง 25 กันยายน  


ปริมาณน้ำไหลผ่าน รายเดือน  
 

จากกราฟแสดงข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่านสะสมรายเดือนพบว่าเดือนสิงหาคมปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมเกือบเท่าตัว และในเดือนกันยายนปริมาณน้ำลดลงเล็กน้อย ส่วนที่สถานีค่ายจิรประวัติปริมาณน้ำช่วงเดือนสิงหาคมเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนกรกฎาคมค่อนข้างมากและในเดือนกันยายนระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก เช่นเดียวกันกับสถานีท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาสมทบเพิ่มเติมและจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ แต่เมื่อดูภาพรวมทั้งเดือนจะพบว่าปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาน้อยกว่าที่ค่ายจิรประวัติเล็กน้อย เนื่องมาจากช่วงที่ปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยามากกว่าที่ค่ายจิรประวัติ เกิดขึ้นเพียงในช่วงวันที่ 14-27 กันยายนเท่านั้น

 

การเปรียบเทียบปริมาณน้ำไหลผ่าน(รายวัน)สถานีค่ายจิรประวัติและสถานีท้ายเขื่อนเจ้าพระยาช่วงเดือน กรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ของปี 2549 และ 2553
จากกราฟเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณน้ำของปี 2553 และปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมหนัก พบว่าปริมาณน้ำของปี 2549 มีค่าสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคม และมีค่าสูงกว่าช่วงเดือนกันยายนของปี 2553 ค่อนข้างมาก โดยปริมาณน้ำที่ค่ายจิรประวัติยังคงสูงกว่าที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา แต่ในปี 2553 ปริมาณน้ำโดยภาพรวมต่ำกว่าปี 2549 แต่ปริมาณน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงกว่าที่ค่ายจิรประวัติ ในช่วงเดือนกันยายน


แผนภาพฝนสะสมรายเดือน

ค่าสถิติฝนสะสมเฉลี่ยเดือนกรกฎาคม ปี 2493-2540

กรกฎาคม 2549

กรกฎาคม 2553

ค่าสถิติฝนสะสมเฉลี่ยเดือนสิงหาคม ปี 2493-2540

สิงหาคม 2549

สิงหาคม 2553

ค่าสถิติฝนสะสมเฉลี่ยเดือนกันยายน ปี 2493-2540

กันยายน 2549

กันยายน 2553


ช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2553 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าน้อยกว่าปี 2549 และน้อยกว่าค่าสถิติ แต่หากพิจารณาพื้นที่ภาคกลางตอนบนเฉพาะจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ และ อุทัยธานี พบว่าปริมาณฝนปี2553 มากกว่าปี 2549 และมากกว่าค่าสถิติเล็กน้อย
ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2553 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบนมีค่ามากกว่าปี 2549 และมากกว่าค่าสถิติ
ช่วงเดือนกันยายน ปี 2553 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือต่ำกว่าปี 2549 แต่มากกว่าค่าสถิติ แต่หากพิจารณาในพื้นที่ภาคกลางตอนบนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท และอุทัยธานี พบว่า ปี 2553 มีฝนตกค่อนข้างมากในพื้นที่จังหวัดชัยนาท แต่น้อยกว่าปี 2549 และมากกว่าค่าสถิติ แต่ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี ในปี 2553 ปริมาณฝนต่ำกว่าปี 2549 และต่ำกว่าค่าสถิติ